แบตเตอรี่รถยนต์ชนิดตะกั่วกรดจะแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลักๆ ตามคุณสมบัติการใช้งาน ได้ดังต่อไปนี้ครับ
1. Conventional Battery (แบตเตอรี่ ชนิดต้องเติมน้ำกลั่น ตลอดเวลา ) : เป็นแบตเตอรี่ที่อัตราการสูญเสียไอน้ำกรดค่อนข้างมาก ตลอดอายุการใช้งาน เนื่องจากแผ่นธาตุทำจาก ตะกั่วพลวง (Lead Antimony) ทั้งแผ่นธาตุบวก และ แผ่นธาตุลบ ซึ่งแผ่นธาตุที่ทำจากตะกั่วพลวง จะมีคุณสมบัติดังนี้
- มีความทนทานต่อความร้อนสูง
- มีความทนทานต่อน้ำกรดสูง
- มีความทนทานต่อการประจุไฟฟ้าสูง (ความต้านทานภายในสูง)
แต่ก็มีข้อด้อยในเรื่อง
- มีการคายประจุไฟฟ้าเองรวดเร็ว (Self Discharge เร็วมาก) ทำให้การขนส่ง และการเก็บรักษาได้ยาก
- ทำให้การอัดประจุไฟฟ้าช้า เนื่องจากมีความต้านทานภายในสูง ทำให้กระแสไหลเข้าได้ช้า)
- เกิดความร้อนจากการชาร์จมาก ทำให้มีการสูญเสียน้ำกรดค่อนข้างเร็ว
- แบตเตอรี่เกิดการโอเวอร์ชาร์จได้ง่าย
2. Hybrid Battery (แบตเตอรี่ชนิดบำรุงรักษาน้อย) : เป็นแบตเตอรี่ที่มีการพัฒนาเพื่อแก้ไข ปัญหาหลักของแบตเตอรี่ชนิดแรก โดยการเปลี่ยนชนิดของ แผ่นธาตุบวก เป็น ตะกั่วแคลเซียม (Lead Calcium) แต่แผ่นธาตุลบ ยังคงเป็น ตะกั่วพลวง (Lead Antimony) ซึ่งเป็นผลทำให้แบตเตอรี่มีอัตราการสูญเสียไอน้ำกรดระหว่างการใช้งาน ลดลง ทำให้ได้แบตเตอรี่ที่มีคุณสมบัติ
- แบตเตอรี่มีการคายประจุไฟฟ้าเองน้อยลงมาก
- แบตเตอรี่มีการสูญเสียไอน้ำกรดน้อยลง
- แบตเตอรี่เกิดการโอเวอร์ชาร์จน้อยลง
- แบตเตอรี่มีการประจุไฟฟ้าได้เร็วขึ้น
3. Maintenance Free Battery (แบตเตอรี่ชนิดไม่ต้องการบำรุงรักษา) : เป็นแบตเตอรี่ที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองการใช้งานของรถยนต์ และพฤติกรรมของผู้ใช้ที่ไม่มีเวลาในการ ดูแลรักษารถยนต์ (หลาย ๆ ท่าน ไม่เคยเปิดฝากระโปรงรถยนต์ หรือ ไม่รู้แม้แต่วิธีการเติมน้ำกลั่น หรือ รถบางคันเจ้าของรถยนต์ยังไม่รู้ว่าแบตเตอรีติดตั้งไว้จุดใดในรถยนต์ ก็มี) โดยแผ่นธาตุทั้งแผ่นธาตุบวก และ แผ่นธาตุลบ จะเป็นชนิด ตะกั่วแคลเซียม (Lead Calcium) หรือตะกั่วเงิน (Lead Silver ) สำหรับ แบตเตอรี่ชนิด Maintenance Free นั้นยังจำแนกได้ตามประเภทได้ดังนี้
a. Flood (ชนิดน้ำ) : แบตเตอรี่ประเภทนี้ เป็นแบตเตอรี่ที่เหมาะสมอย่างมากที่จะใช้ในประเทศ เขตร้อนเนื่องจาก น้ำกรดยังคงสภาพเป็นของเหลวอยู่ จึงทำให้ทนต่อความร้อนสูง ได้ดี และก็แบ่งประเภทได้อีก คือ
- ชนิดฝาเปิดได้ (Non-Seal Lead Acid Battery) ประเภทนี้แบตเตอรี่ยังคงมีการรั่วไหลของ น้ำกรดออกมาได้เล็กน้อย และมีอัตราการสูญเสียน้ำกรดขึ้นอยู่กับระบบฝาปิด แต่ก็มีความทนทานต่อความร้อนสูง
- ชนิดฝาปิดสนิท (Seal Lead Acid Battery) เป็นแบตเตอรี่ที่ปิดสนิททั้งหมด เพื่อต้องการ ป้องกันการรั่วไหลของน้ำกรด อีกทั้งต้องการรักษาน้ำกรดไว้ภายในแบตเตอรี่ให้ได้นานที่สุด ทำให้ป้องกันรถยนต์จากการกัดกร่อนของน้ำกรด ได้ดีมาก ซึ่งการผลิตแบตเตอรี่ชนิดนี้ จะต้องควบคุมคุณภาพของแผ่นธาตุโดยใช้เทคนิคการผลิตแผ่นธาตุแบบการรีดอัด ความหนา แน่นสูง (Expansion Grid Technology) และคุณภาพของตะกั่วจะต้องเป็นตะกั่วบริสุทธิ์ เท่านั้น จึงจะทำให้แบตเตอรี่มีความคงทนสูง
b. Gel (ชนิดเจล) : แบตเตอรี่ประเภทนี้ น้ำกรดภายในแบตเตอรี่ถูกเปลี่ยนสภาพให้เป็น เจล (เพื่อลดปัญหาการรั่วไหลของน้ำกรดออกจากแบตเตอรี่ แต่ก็มีข้อเสียในเรื่องของการใช้งาน ที่ไม่อาจเทียบได้กับแบตเตอรีชนิดน้ำกรด จึงทำให้ไม่มีการใช้แบตเตอรี่ชนิดเจล ในรถยนต์
c. Absorbent Glass Matt ; AGM Technology (ชนิดแห้ง ) : แบตเตอรี่ประเภทนี้ ได้รับการ พัฒนาต่อมาจากชนิดเจล ซึ่งทำให้ได้แบตเตอรี่ ที่มีคุณภาพสูง และให้พลังไฟฟ้ามากกว่า แบตเตอรีปรกติมาก (High CCA) ซึ่งแบตเตอรี่ชนิดนี้จะใช้ แผ่นใยแก้วเป็นวัสดุพิเศษ ทำหน้าที่ เป็นฉนวนกันระหว่างแผ่นธาตุบวก และ แผ่นธาตุลบและแผ่นใยแก้วนี้ ก็ทำหน้าที่ในการดูดซับ น้ำกรดทั้งหมดเอาไว้ภายในแบตเตอรี่ ทำให้ไม่มีการรั่วไหลของน้ำกรดออกจากแบตเตอรี่ แต่แบตเตอรี่ชนิดนี้จะมีข้อจำกัดในการใช้งานเช่นเดียวกับชนิดเจล คือ อุณหภูมีในการทำงาน สูงสุด ไม่เกิน 55 องศาเซลเซียส หากใช้งานในที่ที่อุณหภูมิสูง เกินกำหนดต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะมีผลทำให้อายุแบตเตอรี่สั่นกว่าที่ควรจะเป็นได้
ดังนั้นการเลือกใช้แบตเตอรี่ จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของการใช้งาน และ คุณลักษณะที่เราต้องการ
หรือเราสามารถจำแนกประเภทของแบตเตอรี่รถยนต์ได้อย่างสั้นๆดังนี้
แบตเตอรี่รถยนต์อาจจำแนกได้เป็น 2 ประเภทคือแบตเตอรี่รถยนต์ชนิดน้ำและแบตเตอรี่รถยนต์ชนิดแห้ง (Maintenance Free)
แบตเตอรี่รถยนต์ประเภทน้ำอาจถูกออกแบบและพัฒนาโดยเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน แบตเตอรี่น้ำส่วนมากราคาจะไม่ค่อยแพงและยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน แต่สามารถมีรอยรั่วและแตกได้ อีกทั้งผู้ใช้จะต้องคอยดูแลรักษาโดยการหมั่นคอยดูแลระดับน้ำในแบตเตอรี่ไม่ให้ต่ำกว่าระดับที่ผู้ผลิตกำหนด โดยการเปิดฝาหมุนบนแบตเตอรี่ออกและคอยเติมน้ำกลั่นอย่างสม่ำเสมอ มิฉะนั้นอาจจะทำให้แบตเตอรี่ชนิดน้ำเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่กำหนด
ในส่วนของแบตเตอรี่ประเภทแห้งหรือที่เรียกกันว่า MF (Sealed or Valve regulated battery) เป็นแบตเตอรี่ที่อาศัยแผ่นใยสังเคราะห์ หรือที่เรียกกันว่า Glass Mat (AGM) และเจลเซล ซึ่งคอยดูดซับและทำปฏิกิริยากับกรดซัลฟิวริกจึงเกิดพลังงานไฟฟ้า แบตเตอรี่ประเภทนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องดูแลรักษาและมักจะใช้ในผลิตภัณฑ์ที่การรั่วซึมหรือการรั่วไหลของน้ำกรดมักจะทำให้เกิดความเสียหายได้